กำลังวัวเถลิง
พื้นที่สำรวจ : เขื่อนห้วยกุ่ม
ชื่อท้องถิ่น : กำลังวัวเถลิง
ชื่อทั่วไป : นมวัว
สะบันงา เครือ กำลังวัวเถลิง ตีนตั่ง ตีนต้าง (เลย)
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Artabotrys
harmandii Finet & Gagnep.
ชื่อวงศ์ : Annonaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้เถาเนื้อแข็ง ตามลำต้นมีหนามแข็งห่างๆ
เห็นชัดเจน และกิ่งมีรยางค์เป็นตะขอ (Hook) ใบ
รูปรีถึงรูปขอบขนาน กว้าง 3-6
เซนติเมตร ยาว 10-18 เซนติเมตรแผ่นใบค่อนข้างหนา
แข็งและเหนียว ผิวใบเป็นมันทั้งสองด้าน ดอก เดี่ยวหรือเป็นช่อ
ออกตามกิ่งจากปลายตะขอ ดอกอ่อนสีเขียว เมื่อบานสีเหลืองเข้มและมีกลิ่นหอม
กลีบดอกเรียงเป็นสองชั้น ตัวกลีบหนา รูปรี โคนกลีบคอด ยาวประมาณ 4 ซม.
ผล กลุ่ม มีผลย่อยจำนวน 5-7
(-15) ผล ร่วงง่าย แต่ละผลมี 2 เมล็ด
นิเวศวิทยาทั่วไป
พบในป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ภาคตะวันออกและภาคเหนือ ที่ระดับความสูง 200-500 เมตร
จากระดับน้ำทะเล
ช่วงการออกดอกและติดผล
–
ออกดอกเดือนมกราคม ถึงมีนาคม ผลแก่หลังจาดอกบาน 4-5 เดือน
การใช้ประโยชน์
–
เถาต้มน้ำดื่มบำรุงกำลัง แก้กระษัย (บำรุงไต
กล้ามเนื้อเสื่อม เส้นเสื่อม)
สรรพคุณ
เนื้อไม้ : บำรุงโลหิต
ทำธาตุให้บริบูรณ์ บำรุงเส้นเอ็น แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย บำรุงกำลัง
บำรุงกระดูกให้แข็งแรง เป็นยาอายุวัฒนะ
ราก : บำรุงโลหิต
ทำธาตุให้บริบูรณ์ บำรุงเส้นเอ็น แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย บำรุงกำลัง
บำรุงกระดูกให้แข็งแรง เป็นยาอายุวัฒนะ
ศักยภาพทางเภสัชวิทยา
จากการศึกษาสารสกัดจากเถาลำต้นของกำลังวัวเถลิงด้วย
50% แอลกอฮอล์
พบว่าพืชชนิดนี้มีสารองค์ประกอบอยู่ในกลุ่มแทนนินส์ทั้งที่เป็น hydrolysable tannins และ
condensed tannins ในปริมาณไม่สูงมาก
มีฟลาโวนอยด์ทั้งประเภท anthocyanidin,
leucoanthocyanidin, catechin, aurone, flavone, dihydroflavonol, และ
flavonol และมีสารในกลุ่มอัลคาลอยด์ มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ
(EC50 = 23.55 ไมโครกรัม
/มล.)
มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย S. mutans ที่ทำให้เกิดโรคในช่องปากที่ความเข้มข้น
0.39 มก./มล.
มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย S. aureus ที่ทำให้เกิดโรคแผลฝีหนองที่ความเข้มข้น
3.125 มก./มล.
และเชื้อ V. cholerae ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอหิวาตกโรคที่ความเข้มข้น
3.125 มก./มล.มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อราสาเหตุของโรคกลากที่ความเข้มข้น
8 มก./มล.มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อไวรัสโรคเริม
Herpes simplex virus type
1 (IC50 = 58.16 ไมโครกรัม/มล.)
สารสกัดกำลังวัวเถลิงไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ทั้งในภาวะที่มีและไม่มีเอนไซม์
แต่สามารถลดฤทธิ์ในการก่อกลายพันธุ์ของสารมาตรฐานที่ทดสอบได้ดีเมื่อมีการทำงานของเอนไซม์ในตับร่วมด้วยโดยมีค่า
IC50 เท่ากับ
8.02 และ
8.88 มก./plate และมีความเป็นพิษต่อเซลล์ม้ามโดยให้ค่า
IC50 = 129.5 มก./มล.
มีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งตับปานกลาง (IC50 = 163.5±11.7 ไมโครกรัม/มล.)
พบว่ามีความเป็นพิษต่อเซลล์ปกติเช่นกัน
และไม่พบว่ามีความสามารถเหนี่ยวนำให้เซลล์มะเร็งตับตายแบบอะพอพโทซิส
เมื่อเซลล์ได้รับสารสกัดนาน 1 วัน
หมายเหตุ* ข้อมูลนี้ใช้ในการเผยแพร่ความรู้
ไม่สามารถใช้แทนการวินิจฉัยของแพทย์ได้
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก Thairath /.kku.ac.th /ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป/สมุนไพรดอทคอม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น