ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2559

กวาวเครือขาว สมุนไทยชั้นยอด

กวาวเครือขาว

        กวาวเครือขาว ดูเหมือนจะเป็นสมุนไพรยอดฮิต กลบชื่อเสียงสมุนไพรตัวอื่นๆ เสียหมด เมื่อมีข่าวจากนักวิชาการท่านหนึ่งได้ออกมากล่าวว่ากวาวเครือขาวช่วยให้หน้าอกเพิ่มขนาดได้ กวาวเครือแดงเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้ เท่านั้นแหละครับ ข่าวปากต่อปากต่อปาก ก็เพิ่มสรรพคุณขึ้นอีกมากมาย ผลิตภัณฑ์กวาวเครือ ก็ผุดขึ้นมาขายกันเต็มตลาด ไม่ว่าจะเป็นชนิดผง ชนิดแคปซูล ชนิดทา ต่อมานักวิชาการท่านอื่นกล่าวว่า การวิจัยดังกล่าวยังไม่ได้ตรวจเกี่ยวกับพิษวิทยาอย่างแน่ชัด

ทําความรู้จักกับกวาวเครือ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pueraria mirifica Airy Shaw et Suvatabandhu
ชื่อพ้อง : Pueraria candollei Grah. Var. mirifica (Airy Shaw & Suvata bandhu) Niyomdham
ชื่อสามัญ : กวาว กวาวหัว กวาวเครือขาว (พายัพ) กวาวเครือ เครือขาว จานเครือ (อีสาน) ตานเครือ ทองเครือ ทองกวาว จอมทอง (ใต้) ตานจอมทอง (ชุมพร) โพ้ต้น (กาญจนบุรี) โพะตะกู
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
กวาวเครือเป็นพืชในวงศ์ Papili oneae เดิมใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ Butea superba Roxb. ซึ่งเป็นพืชตระกูลถั่วในวงศ์ Leguminosae ขึ้นในป่าเบญจพรรณ บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 250-800 เมตร ในป่าสูงทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เป็นไม้เถาเลื้อย พาดพันต้นไม้ใหญ่ เป็นไม้ผลัดใบ ขนาดกลาง เถายาวประมาณ 5 เมตร มีหัวใต้ดินขนาดใหญ่ทำหน้าที่สะสมอาหาร ลักษณะค่อนข้างกลม และคอดยาวเป็นตอนๆต่อเนื่องกัน จากตำรายาหัวกวาวเครือของหลวงอนุสารสุนทร กรมการพิเศษเชียงใหม่ โรงพิมพ์อุปะติพงศ์ พฤษภาคม พ.ศ. 2474 กล่าวว่า กวาวเครือมี 4 ประเภทดังนี้ คือ กวาวเครือขาว กวาวเครือแดง กวาวเครือดำ และกวาวเครือมอ
ข้อมูลทางพฤกษเคมี
ในทางพฤกษเคมี หัวกวาวเครือ ประกอบด้วย สารที่ทราบสูตรโครงสร้างทางเคมีแล้วไม่ต่ำกว่าสิบชนิด แต่ที่น่าสนใจ ก็คือ สารหลายชนิดที่จัดอยู่ในกลุ่มของไฟโตเอสโตรเจน (phytoestrogen) สารนี้เป็นสารจากพืชที่มีฤทธิ์ เช่นเดียวกับเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมลักษณะทางเพศ ตลอดจนการทำงานของระบบสืบพันธุ์ในเพศหญิง ปกติเอสโตรเจน เป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่ร่างกายของผู้หญิง สามารถสังเคราะห์ได้เองจากรังไข่  รก หรือต่อมหมวกไต ยาแผนปัจจุบันได้มีการนำเอาสารในกลุ่มเอสโตรเจนมาใช้เป็นฮอร์โมนทดแทนในสตรีวัยหมดประจำเดือน
สรรพคุณ
จากตำราของหลวงอนุสารสุนทร กล่าวว่า กวาวเครือ
1. เป็นยาอายุวัฒนะสำหรับผู้สูงอายุใช้ได้ทั้งหญิงและชาย (คนหนุ่มสาวห้ามกิน)
2. ทำให้กระชุ่มกระชวย
3. ทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่นกลับเต่งตึงมีน้ำมีนวล
4. ช่วยเสริมอก กระตุ้นเต้านมขยายตัว (โดยเฉพาะกวาวเครือขาว)
5.  ช่วยให้เส้นผมที่หงอกกลับดำ และเพิ่มปริมาณเส้นผม
6. แก้โรคตาฟาง ต้อกระจก
7. ทำให้ความจำดี
8. ทำให้มีพลัง การเคลื่อนไหวการเดินเหินจะคล่องแคล่ว
9. ช่วยบำรุงไต
10. ช่วยให้กินอาหารมีรสชาติอร่อย
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของกวาวเครือ
กวาวเครือขาวในปริมาณสูง (100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม วันละ 3 ครั้ง 14 วัน) เมื่อให้กับหนูขาวตัวผู้ จะทำให้จำนวนและเปอร์เซ็นต์การเคลื่อนไหวของสเปิร์มลดลง นอกจากนี้ยังทำให้อัณฑะ ต่อมลูกหมากของหนูขาวมีน้ำหนักลดลงด้วย การศึกษาฤทธิ์ในการคุมกำเนิดของกวาวขาวในหนูขาวเพศเมีย พบว่า การให้กวาวขาวกับหนูสัปดาห์ละ 1 กรัมต่อตัว มีฤทธิ์คุมกำเนิดได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่กวาวขาวในปริมาณต่ำกว่านี้มีฤทธิ์คุมกำเนิดได้บ้าง นอกจากนี้การศึกษาในหนูถีบจักรพบว่ากลุ่มที่ได้รับกวาวเครือมีการตั้งท้องเพียงร้อยละ 14 ลดลงร้อยละ 86 และทำให้จำนวนตัวอ่อนที่ฝังตัวในมดลูกลดลงด้วย จากการทดลองให้ผงกวาวขาวและเอสโตรเจนแก่แม่หนูที่กำลังให้นมลูก พบว่า มีผลทำให้น้ำหนักของลูกหนูน้อยกว่ากลุ่มควบคุม และยังทำให้ลูกหนูตายด้วย สำหรับผลต่อต่อมน้ำนมพบว่าทั้งกวาวขาวและเอสโตเจนมีผลทำให้น้ำหนักของต่อมน้ำนมน้อยกว่ากลุ่มควบคุม และสังเกตได้ชัดเจนว่าไม่มีน้ำนมไหลออกมาจากต่อมน้ำนมของหนู ทั้งกลุ่มที่ได้รับกวาวเครือและเอสโตรเจน
เมื่อให้นกกระทากินผงป่นของหัวกวาวขาวผสมกับอาหารในปริมาณร้อยละ 5 และ 10 เป็นเวลา 15, 30 และ 76 วัน พบว่านกกระทากลุ่มที่ได้รับกวาวขาวจะมีแผลบวม เป็นหนองที่บริเวณหัว ใต้ปีก ฝ่าเท้า และข้อต่อ อันเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และมีนกกระทาตายในระหว่างการทดลอง ซึ่งอาการพิษดังกล่าวขึ้นอยู่กับปริมาณและระยะเวลาที่ได้รับกวาวขาว การศึกษาผลของไมโรเอสตรอล*ในสตรีที่มีประจำเดือนไม่มาตามปกติ จำนวน 10 คน โดยให้ไมโรเอสตรอลในขนาดวันละ 1 มิลลิกรัม 6 ครั้ง และวันละ 5 มิลลิกรัม 6 ครั้ง พบว่าสารดังกล่าวมีฤทธิ์เป็นเอสโตรเจนอย่างแรง สามารถทำให้ประจำเดือนมาหลังจากหยุดยา 7-18 วัน ผู้ที่ได้รับยาส่วนใหญ่มีอาการข้างเคียง ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน บางราย ( 4 ใน 10 ราย) มีอาการทรวงอกขยายใหญ่ขึ้น อาการเหล่านี้จะเห็นชัดเจนในขนาด 5 มิลลิกรัม มากกว่า 1 มิลลิกรัม
สรรพคุณทางการเเพทย์
สถาบันแพทย์แผนไทยและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและ ยา กระทรวงสาธารณสุข โดยทาง อย. ได้อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กวาวเครือไปนั้น เป็นการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเป็นสูตรตำรับยาแผนโบราณที่เป็นยาผสม ซึ่งจะมีสมุนไพรอื่นๆผสมอีกหลายชนิด และส่วนใหญ่เป็นตัวยาในตำรับยาที่เป็นยาบำรุงร่างกาย หรือยาสำหรับสตรีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ โดยยาดังกล่าวจะต้องวางจำหน่ายในร้านขายยาเท่านั้น
สรรพคุณทางแผนไทย
สมุนไพร กวาวเครือขาว นั้น ชาวหมอแผนไทยพื้นบ้านของเราเขาใช้มานมนานแล้ว แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้เป็นตัวยาสมุนไพรเดี่ยวๆ ต้องใช้ร่วมกับยาสมุนไพรอื่นๆ รศ.ยุทธนา สมิตะสิริ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ค้นคว้าและพบว่า สมุนไพรกวาวเครือ มีระบุอยู่ในตำรายาหัวกวาวเครือของหลวงอนุสารสุนทร กรมการพิเศษเชียงใหม่ โรงพิมพ์อุปะติพงศ์ พฤษภาคม พ.ศ. 2474 กล่าวว่า กวาวเครือมี 4 ประเภท คือ กวาวเครือขาว กวาวเครือแดง กวาวเครือมอ กวาวเครือดำ บรรยายสรรพคุณว่า คนอ่อนเพลีย ผอมแห้งแรงน้อย นอนไม่หลับ กินไม่ได้ กินแล้วได้ผล หายอ่อนเพลียและหลับสบาย และอื่นๆอีกมากมาย รวมทั้งมี แวบๆ ว่า ทำให้กระชุ่มกระชวย กระตุ้นเต้านมขยายตัว แต่หลักๆ จะบอกว่าเป็นยาอายุวัฒนะทำให้อายุยืนแข็งแรง  ที่น่าสนใจ คือ ในตำราระบุขนาดว่าควรใช้ขนาดเม็ดเท่าพริกไทย
สรรพคุณทางยาเเผนโบราณ
กวาวเครือขาว ถ้ายังเป็นยาแผนโบราณ และกินกันอย่างแผนโบราณเป็นยาอายุวัฒนะ ซึ่งยาแผนโบราณมีตำรับมากมาย ในอดีตชาวบ้านกินยาแผนโบราณ มักได้รับคำแนะนำจากญาติผู้ใหญ่หรือจากคนรู้จักว่ามีสรรพคุณอย่างนั้นอย่างนี้และเป็นตำรับยา ซึ่งมีตัวยาหลายๆอย่าง ที่ช่วยแก้กันและกัน ตามทัศนะแพทย์แผนไทย การกินก็เพื่อการรักษาโรคหรือเป็นการบำรุงร่างกายทั่วๆไป

..................................................................................................................................................................
หมายเหตุ* ข้อมูลนี้ใช้ในการเผยแพร่ความรู้ ไม่สามารถใช้แทนการวินิจฉัยของแพทย์ได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก เอมอร โสมนะพันธุ์, วีณา จิรัจฉริยากูล. จุลสารข้อมูลสมุนไพร. มหาวิทยาลัยมหิดล และสมุนไพรคุณสัมฤทธิ์ เรียบเรียงโดย pompom

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น